homescontents
anadolu escort bostancı escort kadıköy escort
Trbet Canlı Bahis Canlı Bahis Canlı Bahis Canlı Bahis
hdfilmcehennemi
bonus veren siteler

ระบบแท่งข้าราชการ

    

* ภายใน 1 ปี ข้าราชการกว่า 1.5 ล้านคน ต้องเข้าสู่ระบบใหม่
       * บิ๊กขี้หลี-เด็กเส้น-พวกเช้าชามเย็นชาม อยู่ยาก
       * เผยกลไกสกัดอิทธิพลการเมืองล้วงลูกในทุกระดับ
       * ส่วนคนดี มีฝีมือ พิสูจน์กึ๋นได้เต็มที่
       * “สเปก” ข้าราชการแบบใด มีโอกาสโตทั้งเงินและตำแหน่ง...
       
       ขณะนี้อาชีพที่ออกจะตุ๊มๆ ต่อมๆ มากสุดเพราะจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จาก พ.ร.บ.ฉบับใหม่คือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ ที่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติไปอย่างง่ายๆ ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ ที่จะเกิดผลกระทบกับข้าราชการกว่า 4 แสนคนและข้าราชการที่อยู่นอกระบบแต่ยึดระเบียบข้าราชการก.พ.เป็นเกณฑ์พิจารณาอีกกว่า 1 ล้านคน

พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ มีจุดเด่นตรงที่จะมีการยกเลิกระบบซีทั้งหมด มีการแยกการบริหารราชการออกเป็น 4 แท่ง คือแท่งทั่วไป แท่งวิชาการ แท่งอำนวยการ และแท่งบริหาร ที่สำคัญเมื่อ พ.ร.บ.นี้บังคับใช้ ข้าราชการทุกคนต่างสนใจและตั้งความหวังมากที่สุดว่าเงินเดือนของภาคราชการ ที่สามารถเทียบเคียงกับภาวะตลาดและภาคเอกชนได้แน่
       
       เปิดข้อมูล 4 แท่ง-เงินเดือนใหม่
       
       โดยข้าราชการทั้งหมดจะถูกจำแนกกลุ่มใหม่หมดตามภาระหน้าที่ โดยในแท่งทั่วไปจะประกอบด้วยข้าราชการเดิมที่มีหน้าที่ในฝ่ายปฏิบัติการทั้งหมด รวมถึงข้าราชการที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเอกสาร จะถูกจัดแบ่งระดับออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับปฏิบัติงาน (ซี 1-4 เดิม) ระดับชำนาญงาน (ซี 5-6 เดิม) ระดับอาวุโส (ระดับ 7-8 เดิม) และระดับทักษะพิเศษ
       
       แท่งวิชาการ จะประกอบไปด้วยข้าราชการที่มีหน้าที่ในการวางแผน วิเคราะห์ทั้งหมด มี 5 ระดับคือ ระดับปฏิบัติการ (ซี 3-5 เดิม) ระดับชำนาญการ (ซี 6-7 เดิม) ระดับชำนาญพิเศษ (ระดับ 8 เดิม) ว/วช. ระดับชำนาญพิเศษ (ซี 8 เดิม) ว/วช. ระดับเชี่ยวชาญ (ซี 9 เดิม) วช./ชช. และระดับทรงคุณวุฒิ (ซี 10-11 เดิม) วช/ชช
       
       แท่งอำนวยการจะมี 2 ระดับ คือ ระดับต้น (ซี 8 เดิม) บก. ผอ.กอง/เทียบเท่า และระดับสูง (ซี 9 เดิม) บส. ผอ.สำนัก/เทียบเท่า
       
       แท่งบริหาร มี 2 ระดับเช่นกันคือ ระดับต้น (ซี 9 เดิม) บส.รองหน..สรก. และระดับสูง (ซี 10-11 เดิม) บส. หน.สรก.
       
       โดยในแท่งทั่วไป ระดับปฏิบัติการจะมีเงินเดือนขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 4,630 บาท ขั้นสูง 18,190 บาท ระดับชำนาญงาน เงินเดือนระดับต่ำที่ 10,190 บาท ระดับสูงที่ 33,540 บาท ระดับอาวุโส เงินเดือนขั้นต่ำ 15,410 บาท ระดับสูง 47,450 บาท และระดับทักษะพิเศษ ขั้นต่ำ 48,220 บาท ขั้นสูง 59,770 บาท
       
       ในแท่งวิชาการระดับปฏิบัติการ ขั้นต่ำ 7,940 บาท ขั้นสูง 22,220 บาท ระดับชำนาญการ ขั้นต่ำ 21,080 บาท ขั้นสูง 36,020 บาท ระดับชำนาญพิเศษ ขั้นต่ำ 21,080 บาท ขั้นสูง 50,550 บาท ระดับเชี่ยวชาญ ขั้นต่ำ 29,900 บาท ขั้นสูง 59,770 บาท ระดับทรงคุณวุฒิขั้นต่ำ 41,720 บาท ขั้นสูง 66,480 บาท
       
       ในแท่งอำนวยการ ระดับต้น ขั้นต่ำ 25,390 บาท ขั้นสูง 50,550 บาท ระดับสูง ขั้นต่ำ 31,280 บาท ขั้นสูง 59,770 บาท
       
       ในแท่งบริหาร ระดับต้น ขั้นต่ำ 48,700 บาท ขั้นสูง 64,340 บาท ระดับสูง ขั้นต่ำ 53,690 บาท ขั้นสูง 66,480 บาท
       
       1 ปี พร้อมเดินหน้าระบบใหม่
       
       ขณะที่ทั้ง 19 กระทรวง 159 กรม ต่างรู้ตัวเองแล้วว่าจะต้องมีการขยับและเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการจัดคนลงแท่งต่างๆ และ ก.พ.คือหน่วยงานหลักที่จะต้องวางกฎเกณฑ์การจำแนกข้าราชการลงแท่งต่างๆ ให้ชัดเจนดังนั้นปัญหาความขัดแย้ง การต่อต้านจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.กำหนดขึ้นมา
       
       ปรีชา วัชราภัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ กล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแล้วและอยู่ในขั้นตอนการทำเอกสารให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงปรมาภิไทย หลังจากนั้นเมื่อมีการประกาศใช้ ก็พร้อมที่จะเดินหน้าในการจัดระบบข้าราชการใหม่ทันที และในขั้นตอนการจัดระบบใหม่ ทั้งจัดจำแนกข้าราชการลงใน 4 แท่ง พร้อมทำกฎหมายลูก 71 ฉบับรองรับ จะต้องให้เสร็จภายใน 1 ปี และเดินหน้าระบบใหม่ได้ภายในปี 2552 ทันที
       
       “สิ่งที่ดูเหมือนง่ายแต่ยาก คือ ต้องจัดคนลงให้ครบทั้ง 4 แท่ง ที่จริงทุกคนน่าจะรู้อยู่แล้วว่าภาระหน้าที่งานที่ทำอยู่ของตัวเองจะต้องไปอยู่ในแท่งไหน แต่บางคนพอรู้สึกว่าถูกจัดไปอยู่ในแท่งทั่วไป ก็จะรู้สึกว่ามีศักดิ์ศรีน้อยกว่าแท่งวิชาการ ซึ่งไม่ใช่ เงินเดือนก็ไม่ต่างกันมาก ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ตอนนี้คนคิดไปเองมีเยอะ”
       
       หวั่นคนไม่จบ ป.ตรีวุ่น
       
       โดยปัญหาที่ ก.พ.กำลังมองอยู่และคาดว่าน่าจะเกิดความวุ่นวายมากที่สุด คือการจัดคนที่มีหน้าที่ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างแท่งทั่วไป กับแท่งวิชาการนี้เอง โดยเฉพาะข้าราชการที่ในอดีตมีการผ่อนผันว่าไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งจากการสำรวจของ ก.พ.ในปี 2549 ข้าราชการในกลุ่มที่ไม่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีมีสูงถึง 28.51% หรือ 104,071 คน ในข้าราชการพลเรือนสามัญทั้งหมด 365,083 คน
       
       ปัญหาที่มองว่าน่าจะเกิดก็มี เช่น ข้าราชการสายบริหารงานทั่วไประดับ 7 แต่ไม่จบการศึกษาขั้นปริญญาตรี หากจัดให้เข้าแท่งวิชาการไป ก็จะอยู่ในระดับชำนาญการ ซึ่งจะสามารถมีความก้าวหน้าถึงขั้นความชำนาญการพิเศษ แต่ทุกคนต้องมีผลงานมาวัดถึงจะก้าวไปถึงขั้นนั้นได้ แต่ถ้าเข้าไปอยู่ในแท่งทั่วไป ก็จะเป็นระดับอาวุโสทันที มีเงินเดือนชนระดับ 8 ซึ่งก็ไม่ต้องทำผลงานอะไรเพราะมีเงินเดือนถึงเพดานของแท่งแล้ว
       
       อย่างไรก็ดี คนกลุ่มนี้หากไม่เข้าใจก็อาจต่อต้านเมื่อจัดให้เขาไปอยู่ในแท่งทั่วไป ก็จะเกิดความรู้สึกว่าศักดิ์ศรีสู้แท่งวิชาการหรือวิชาชีพไม่ได้ ดังนั้น เมื่อ ก.พ.วางกรอบให้ก็เป็นปัญหาที่หน่วยงานจะไปจัดสรรคนใส่แต่ละแท่งซึ่งถือเป็นภารกิจการกระจายอำนาจโดยตรง และแต่ละช่วงของแท่งต่างๆ ก็จะมีอัตราเงินเดือนที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน
       
       อีกทั้งปัญหาของระดับซี 9 ที่มีอยู่ด้วยกันหลายสายงาน ก็จะถูกจัดลงอย่างเหมาะสมในแท่งวิชาการ อำนวยการและบริหาร ส่งผลให้เงินเดือนก็จะได้ตามความสามารถและภารกิจที่รับผิดชอบจริงๆ ไม่ใช่ว่าซี 9 เหมือนกันแต่ภารกิจงานที่ต่างกันกลับได้เงินเดือนในอัตราที่เท่ากันเหมือนปัจจุบันนี้
       
       ดังนั้น การจัดข้าราชการลงแท่งต่างๆ นั้นกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายหน่วยงานรัฐและ ก.พ.ต้องเร่งจัดการก่อนเป็นอุปสรรคให้ระบบราชการใหม่ก้าวไม่ถึงฝั่งเกษียณก่อนกำหนดทางออกที่ดี
       
       อย่างไรก็ดี มติ ครม.ที่อนุมัติโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดให้ข้าราชการ ในปีงบประมาณ 2550 โดยข้าราชการที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือข้าราชการที่มีเวลาราชการเกิน 25 ปีขึ้นไป (นับถึงวันก่อนออกราชการตามมาตรการฯ 30 ก.ย.50) สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้
       
       โดยส่วนราชการต่างๆ จะต้องพิจารณาทบทวนบทบาท ภารกิจ วิเคราะห์และสำรวจอัตรากำลังของส่วนราชการตามหลักการบริหารบุคคล 5 กรณี คือ ครม.มีมติให้ส่วนราชการปรับเปลี่ยนสถานภาพโดยออกจากระบบราชการ,ส่วนราชการจะยุบเลิกบางภารกิจ, ส่วนราชการมีอัตรากำลังเกิน, ส่วนราชการที่มีอัตรากำลังเหมาะสมแต่จำนวนข้าราชการสูงอายุ (50 ปีขึ้นไป)มากกว่า 20% และส่วนราชการที่มีอัตรากำลังไม่เพียงพอและมีข้าราชการสูงอายุ (50 ปี ขึ้นไป)มากกว่า 20%
       
       ข้าราชการที่ตัดสินใจเข้าโครงการนี้จะมีสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับคือเงินก้อน 8-15 เท่าของเงินเดือนรวมเงินประจำตำแหน่งตามเวลาราชการที่เหลือ (ปี) โดยมีสูตรคำนวณ คือ เงินก้อน = 8+ อายุราชการที่เหลือ (ปี) x เงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมเงินประจำตำแหน่ง * (ถ้ามี) แต่สูงสุดไม่เกิน 15 เท่าของเงินเดือนรวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) และยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมอีก คือยกเว้นภาษีเงินก้อน, ยกเว้นภาษีในส่วนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ,ยกเว้นไม่ต้องชดใช้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปกติกับเงินกู้ตามพ.ร.ก.สวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ.2535 โครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ รวมทั้งโครงการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ธอส.-กบข.ด้วย และมีสิทธิได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนเหมือนข้าราชการผู้ออกจากราชการด้วยเหตุเกษียณอายุ
       
       “อันนี้แต่ละหน่วยงานต้องวางแผนกันเอง ภายใน 5 ปี สำหรับก.พ. ก็เข้าข่ายส่วนราชการที่มีคนอายุเกิน 50 ปี เกิน 20% จึงตั้งใจว่าในปี 52 จะให้คนเกษียณอายุ 22 คนต่อปี พอครบ 5 ปี ก็จะมีคนเกษียณอายุก่อนกำหนดไป 100 คน ก.พ.ก็จะบรรจุเด็กรุ่นใหม่อายุน้อยเข้ามาก็ได้ปีละ 20 กว่าคน อายุเฉลี่ยของข้าราชการในองค์กรก็จะมีน้อยลง”
       
       ฉะนั้น ทางเลือกสำหรับข้าราชการในกลุ่มที่ไม่พอใจในการจัดจำแนกลงแท่งใหม่ครั้งนี้ การเกษียณก่อนกำหนดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทางเลือกหนึ่งในเวลานี้
       
       นอกจากนี้หลังจาก 1 ปี แรกที่ ก.พ.จัดสรรคนตามแท่งต่างๆ สำเร็จแล้วก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะหลังจาก 1 ปี อำนาจทั้งหมดจะอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯในการจัดสรรบุคลากรให้ลงตัวที่สุดอีกครั้งหนึ่งได้ด้วย
       
       ป่วนเลิกสวัสดิการ ขรก.ใช้ประกันสังคมแทน 
       
       อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงปัญหาความไม่พอใจในตำแหน่งใหม่ เงินเดือนใหม่นี้ ก.พ.มีความกังวลและได้ให้ทางศศินทร์ได้ศึกษาประเมินความเสี่ยงจากการนำระบบข้าราชการใหม่เข้ามาใช้ครั้งนี้ด้วย เพราะเมื่อเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น ก.พ.จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที และให้มีคนที่ต่อต้านน้อยที่สุด
       
       ผลการศึกษาของสถาบันศศินทร์ พบว่า ความเสี่ยงระดับแรกสุดที่น่ากลัวที่สุดคือความเสี่ยงด้านการสื่อสาร คือ ข้าราชการสื่อสารข้อมูลที่คลาดเคลื่อนให้กับผู้อื่น โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และ ข้าราชการสื่อสารความคิดเห็นในทางที่เป็นอคติต่อตัวระบบใหม่ให้กับผู้อื่น
       
       กรณีนี้เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ คือเริ่มมีข่าวลือที่หนาหูเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ด้านสวัสดิการของข้าราชการที่จะต้องเสียไป คือมีการพูดกันว่าข้าราชการทั้งหมดจะต้องใช้ระบบประกันสังคมเหมือนพนักงานบริษัทเอกชน และสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่มีให้ตั้งแต่ลูกจนถึงพ่อแม่นั้นจะถูกยกเลิกไป และให้ไปใช้สวัสดิการในโครงการ 30 บาทห่างไกลโรคแทน
       
       “ผมเพิ่งจะได้ยินข่าวนี้นะ ที่ตลกคือยังไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้ แล้วใครเป็นคนพูดขึ้นมา คำถามคือคนพูด พูดเหมือนรู้จริง แต่จริงๆ แล้วไม่รู้ แล้วไปบอกต่อ ตรงนี้ต่อไปอาจทำให้เกิดกระบวนการต่อต้านขึ้นมา ซึ่งไม่เป็นความจริง และประเด็นนี้ทางกระทรวงการคลังก็ต้องเป็นคนดูแล แต่กระทรวงการคลังก็ยังไม่เคยพูดเรื่องนี้ เอามาจากไหน พูดกันไปเพราะเข้าใจกันไปเองทั้งนั้น ไม่มีจริง”
       
       ตรงนี้จึงขอวอนผู้ที่ยังไม่แน่ใจ ไม่รู้ก็อย่าปล่อยข่าว หรือผู้ที่ได้ยินได้ฟังมาก็ขอให้สอบถามที่ศูนย์บริหารของทุกกระทรวงที่กำลังมีการแต่งตั้งขึ้นมา 19 ศูนย์ ส่วนก.พ.ก็จะเป็นตัวประสานงานกลางและเร่งทำความเข้าใจให้ข้าราชการไปพร้อมๆ กันด้วย
       
       อย่างไรก็ดี แม้จะมีความเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคมากมายที่ ก.พ.จะต้องผ่าด่านไปให้ได้ แต่ ก.พ.ก็มีความมั่นใจในการขับเคลื่อนการปรับระบบข้าราชการยุคใหม่นี้ เพราะผลที่ได้รับจากเอแบคโพลล์ที่ลงสำรวจความเห็นของกลุ่มข้าราชการทั่วประเทศและมากกว่า 70% แสดงความเห็นด้วย
       
       จากการสำรวจความคิดเห็นของข้าราชการพลเรือนทั่วประเทศในงานวิจัยเรื่อง “ความคิดเห็นของข้าราชการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ : กรณีศึกษาข้าราชการพลเรือนทั่วประเทศ” โดยใช้วิธีตอบแบบสอบถามทางไปรษณีย์กับกลุ่มตัวอย่าง 721 ตัวอย่าง ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16-29 สิงหาคม 2550
       
       พบว่าข้าราชการกว่าร้อยละ 70 เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ในภาพรวม และเมื่อพิจารณาในรายประเด็นก็พบว่า ข้าราชการกว่าร้อยละ 80 เห็นด้วยกับประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ เช่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง บทบาท และใช้หลักการบริหารบุคคลทางราชการให้เหมาะสมและทันสมัยมากขึ้น การกระจายอำนาจและมอบหมายการตัดสินใจให้กับอธิบดี ปลัดกระทรวง การยกเลิกระบบซี แล้วเปลี่ยนเป็นกลุ่ม การปรับปรุงมาตรฐานค่าตอบแทน ฯลฯ ซึ่งในประเด็นนี้ข้าราชการกว่า 80% คาดว่าจะได้รับประโยชน์ม

ส่วนจุดที่ข้าราชการอยากให้เน้นมากที่สุดยังเป็นเรื่องผลประโยชน์เป็นสำคัญ เริ่มต้นจากเรื่องค่าตอบแทนที่ต้องการให้มีการกระจายอย่างทั่วถึงและยุติธรรม (23.5%), การยกเลิกระบบซีและจัดระบบซีเป็นแท่งใหม่ควรยึดวุฒิการศึกษาเป็นหลักในการจัดแบ่งกลุ่มและกำหนดวิธีการปรับเปลี่ยนกลุ่มให้ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอน (23.5%), การพิจารณาลงโทษใช้เส้นสายและสร้างตำแหน่ง (18.9%) และการปรับเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งโดยให้ดูความสามารถเป็นเกณฑ์ (15.1%) และการกระจายอำนาจให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจอย่างยุติธรรมโปร่งใส (10.9%)
       
       แม้ผลการสำรวจของเอแบคโพลล์จะออกมาเป็นบวก แต่ ก.พ.ก็ยังต้องเร่งความเข้าใจกับข้าราชการทุกส่วนเพื่อให้การปรับเปลี่ยนครั้งนี้มีการสะดุดน้อยที่สุดและให้เสร็จภายใน 1ปีตามที่กฎหมายกำหนด
       
       ศึกช้างชนช้าง-ปลัดฯ ขจัดการเมืองแทรก
       
       อีกทั้งระบบบริหารตาม พ.ร.บ.ใหม่นี้ จะเห็นข้าราชการพันธุ์ใหม่ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของข้าราชการระดับผู้บริหารอย่างยิ่ง!เพราะคนที่ต้องชนกับฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะการแทรกแซงการบริหารงานของข้าราชการคือผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงต่างๆ
       
        “นักการเมืองจะเอาคนของตัวเองมายัดในตำแหน่งวิชาชีพ หรือแม้กระทั่งแท่งอื่นเพราะต่อไปนี้ต้องเอาผลงานมาดูทั้งคุณวุฒิทั้งคุณสมบัติ แต่สำหรับแท่งทั่วไปอาจมีบ้าง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสมรรถนะการทำงาน และผลงาน เพราะตรวจสอบได้หมด”
       
        ต่อไปเป็นระบบการบริหารงานบุคคลแบบกระจายอำนาจ ฝ่ายบริหารของกระทรวงต่างๆ จะต้องพิจารณาว่าจะแต่งตั้งใครตำแหน่งไหน อีกทั้งต้องบริหารให้งบประมาณของกระทรวงที่ได้มาจากรัฐบาลมีประสิทธิภาพสูงสุด ใครบริหารไม่ดี ไม่มีผลงานก็จะถูกเปลี่ยน
       
        “เดิมปลัดกระทรวงไม่ต้องการให้ตำแหน่งกับเด็กนักการเมือง ก็ส่งเรื่องมาให้ ก.พ. แล้วกลับไปบอกนักการเมืองว่าก.พ.อนุมัติตำแหน่งให้แล้ว ไม่ได้ก็กลับไปบอกว่า ก.พ.ไม่อนุมัติตำแหน่ง แต่ต่อไปไม่ใช่ ผู้บริหารต้องตัดสินใจเองจะให้ตำแหน่งนั้นหรือไม่ ถ้าให้แล้วไม่เหมาะสม องค์กรก็เจ๊ง ไม่มีประสิทธิภาพ ผู้บริหารก็ต้องกล้าที่จะปฏิเสธ”
       
        กรณีภาคการเมืองขอให้คนไปช่วยราชการ ขอกันมากๆ ก็ไม่มีคนทำงานในกระทรวง ตรงนี้ผู้บริหารก็ต้องปฏิเสธ
       
        “คุณมีสิทธิ์ที่จะบอกว่าไม่มีคนทำงานผมไม่ให้นะ ไม่อย่างนั้นหน่วยงานคุณก็ไม่มีคนทำงาน”
       
        ส่วนคนที่เคยโดนภาคการเมืองกลั่นแกล้ง เช่น ขัดแย้งกับรัฐมนตรี รัฐมนตรีสั่งผอ.กองมากลั่นแกล้ง ระเบียบเดิมข้าราชการคนนั้นต้องร้องไปที่ผู้บังคับบัญชาคือ อธิบดีหรือปลัดกระทรวง อธิบดีหรือปลัดกระทรวงก็เป็นคนของรัฐมนตรีอีก ร้องไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่มีใครให้ความยุติธรรมได้
       
        กฎหมายใหม่จึงมีข้อกำหนดแก้ไขในจุดนี้ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมขึ้นมา โดยมีกรรมการ 7 คน ซึ่งน่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในวงการศาล องค์กรนี้ก็จะไม่มีใครเกี่ยวข้องกับภาคการเมือง เป็นองค์กรกึ่งตุลาการ ซึ่งจะให้ความยุติธรรมกับข้าราชการที่ถูกกลั่นแกล้งได้มาก
       
       ฟันธง! ต้องดีกว่าเดิม
       
       เลขาธิการ ก.พ.กล่าวว่า ระบบใหม่ ดีกว่าเดิมแน่นอน เพราะในเชิงจิตวิทยาองค์กร ที่เขาวิเคราะห์ว่าการเข้ามาในระบบราชการมีทั้งแรงดึงและแรงผลัก
       
       แรงดึงแต่เดิมนั้นคือการที่มีสวัสดิการดี คือการรักษาพยาบาลครอบคลุมไปถึงบุตรและบิดามารดา ขณะที่แรงผลักใหญ่คือเรื่องของความไม่เป็นธรรม การเล่นเส้นเล่นสาย
       
       ดังนั้น ก.พ.จึงพยายามสร้างแรงดึงมากขึ้น คือ เป็นการปรับระบบค่าตอบแทน ไม่ให้รู้สึกว่าต่ำต้อย และลดแรงที่จะผลักคนออกจากระบบ ยิ่งกรณีคนรุ่นใหม่ๆ นั้น เชื่อได้ว่ามีน้อยคนมากที่อยากเข้ามาทำงานระบบราชการ ใครเข้ามาทำก็อยู่ไม่เกิน 5 ปี ก็อยากย้ายงานไปภาคเอกชนกันหมด คนเหล่านี้อยากกลับเข้ารับราชการก็ต้องมารับเงินเดือนเท่าเดิม แต่ต่อไปไม่ใช่ ต่อไปต้องกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ว่า คนที่ออกไปแล้ว 5 ปี กลับเข้ามาเงินเดือนต้องเพิ่มขึ้นด้วย
       
       โดยข้อดีของระบบราชการใหม่ที่ชัดเจนอันดับแรก คือ เป็นการดึงคนให้อยากเข้ามาทำงานในระบบราชการมากขึ้น ขณะที่ลดแรงผลักที่มีแต่คนอยากออกจากภาคราชการให้น้อยลง
       
       ต่อมาคนที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการปรับระบบนี้ คือ คนที่ทำงานสายวิชาชีพอยู่แล้ว เช่น หมอ เภสัช พยาบาล วิศวกรรม นิติกร ฯลฯ จะมีการเทียบเคียงเงินเดือนในท้องตลาด โดยมีหน่วยงานกลาง และกรมบัญชีกลางเป็นผู้ควบคุม ซึ่งจะมีรายละเอียดอีกมาก
       
       ในส่วนของระบบเพิ่มเงินเดือน ต่อไปก็อาจมีการพิจารณาโดยใช้เปอร์เซ็นต์เป็นหลัก คือขึ้นได้ตั้งแต่ 0-10% แต่ต้องมีกฎเกณฑ์รองรับ และต้องมีการประกาศผลงานอย่างโปร่งใส โดยอาจต้องประกาศผลงานคนที่ได้เลื่อนตำแหน่งผ่านทางอินทราเน็ต หรืออินเทอร์เน็ต เป็นเรื่องที่ต้องกำหนดอีกครั้งหนึ่ง
       
       ตั้งศูนย์ฯ 19 กระทรวง
       
        นอกจากนี้ เพื่อให้การจำแนกข้าราชการลงแท่งต่างๆ ไปอย่างราบรื่น ก็จะมีการให้ทุกกระทรวงมีการจัดตั้งศูนย์บริหารความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมี ก.พ.เป็นผู้ประสานงานให้ราบรื่น โดยใน 1 ปี นอกจากจะจัดคนลงแท่งต่างๆ ให้เสร็จแล้ว ก็ต้องมีการวางมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้เสร็จ มีการสร้างความเข้าใจในองค์กร และสร้างเครื่องมือการบริหารบุคคลในองค์กรต่างๆ สำเร็จ
       
        สำหรับเรื่องระยะเวลาที่ต้องทำให้สำเร็จใน 1 ปีนั้น เป็นเรื่องที่ตอนนี้กำลังเป็นที่กังวลมากสุด เพราะมีกฎหมายลูกอีกมากถึง 71 ฉบับที่ต้องทำให้เสร็จพร้อมๆกันด้วย โดยเฉพาะในเรื่องหลักเกณฑ์การจัดประเภทและระดับตำแหน่ง, มาตรฐานการกำหนดตำแหน่ง, การได้รับเงินเดือน, การจัดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนเข้าประเภทสายงาน ระดับตำแหน่งใหม่ ฯลฯ ซึ่ง ก.พ.จะต้องจัดทำกฎหมาย จัดทำมาตรฐานให้ดีที่สุด เพื่อขจัดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการจัดบริหารบุคคลในระดับกระทรวงต่อไป
       
       **************
       
       หวั่น “หมอ” ป่วนค้านกติกาใหม่!
       สธ.ตั้งทีมรับมือสารพัดปัญหา 
       
       หวั่นประชาคมสาธารณสุข! ก่อหวอด ต้านกติกาใหม่ ตั้งคณะทำงานเฉพาะด้านรับมือสารพัดปัญหา ทั้งจำนวนบุคลากรมากที่สุด-สายงานทับซ้อน ชี้โครงสร้างใหม่หนุนคนเก่ง-มีผลงานเด่น สกัด “เด็กฝาก” ไร้คุณภาพพ้นกระทรวง
       
        การผลักดันให้ข้าราชการกว่า 4 แสนคนไปสู่ระบบ ระเบียบ แนวใหม่ภายใต้พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ ที่ใกล้มีผลบังคับใช้ในอีกไม่ช้านี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดาย โดยเฉพาะในกระทรวงที่มีขนาดใหญ่ทั้งในด้านกำลังคนและสายงานที่มากที่สุดอย่างกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีจำนวนข้าราชการหลากหลายทั้งที่เป็นแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านอื่น ๆ มากถึงร้อยละ 40 ของจำนวนข้าราชการทั้งสิ้นกว่า 4 แสนคน ซึ่งต้องได้รับการบริหารจัดการปรับบุคลากรทั้งหมดให้เข้าสู่ระบบการจำแนกตำแหน่งใหม่ ตามแท่งต่างๆทั้ง 4 แท่ง เพื่อให้เกิดความทันสมัยและสอดคล้องกับการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มากขึ้น
       
       ชี้ ขรก.มากที่สุด-ภารกิจไม่ชัดเจน
       
        นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา ที่ปรึกษาระดับกระทรวงด้านพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ ว่าสธ.มีข้าราชการจำนวน1.5แสนคน ซึ่ง เมื่อ ก.พ.ยกเลิกระบบ "ซี" ไปแล้ว และให้มีการปรับตำแหน่งต่างๆลงแท่งทั้ง 4 แท่งภายในระยะเวลา 1 ปีนั้น กระทรวงได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับงานไว้เช่นเดียวกับกระทรวงอื่นๆ อีก 18 กระทรวงและกรมต่างๆ อีกกว่า 100 กรม
       
        ในการเปลี่ยนแปลงระบบจากแบบเก่าไปสู่แนวทางใหม่นั้น เชื่อว่าโดยหลักการแล้วจะส่งผลให้ข้าราชการทั้งระบบได้รับประโยชน์ ทั้งในแง่ค่าตอบแทน ความรู้ความสามารถ ตลอดจนประสิทธิภาพของงาน ซึ่งในส่วนของ สธ.พร้อมปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมายใหม่ โดยเวลานี้กระทรวงได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะด้านขึ้น และประสานกับ ศูนย์บริหารการปรับเปลี่ยนระบบบริหารงานทรัพยากรบุคคล ที่ ก.พ.ได้ตั้งขึ้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในระหว่าง 1 ปีในการเปลี่ยนถ่ายระบบ
       
        อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในการจัดสรรบุคคลลงในตำแหน่งต่างๆ ตามการจำแนกตำแหน่งงานทั้ง 4 แท่งนั้น อาจเกิดปัญหาขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากข้าราชการของสธ.มีจำนวนมาก รวมทั้งมีสายงานที่มากกว่า 100 สายงาน ขณะเดียวกันพบว่าบางสายงานมีความก่ำกึ่งไม่ชัดเจนว่าใครควรจะอยู่ในสายใด แต่ทุกอย่างได้ถูกกำหนดให้ต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี
       
        “ที่ผ่านมาสายงานภายในกระทรวงมีค่อนข้างมาก บางสายก็ไม่ชัดเจนว่าจะจัดให้ลงไปอยู่ในแท่งวิชาชีพหรือแท่งบริหาร ซึ่งในเรื่องนี้คณะกรรมการชุดเฉพาะด้านที่กระทรวงตั้งขึ้นมาจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินโดยยึดตามประกาศและหลักการของก.พ.อย่างเคร่งครัด เพราะไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจน ส่วนคณะกรรมการของกระทรวงเองก็จะมีความผิด”
       
       โครงสร้างใหม่-ไม่กลัว “เด็กเส้น”
       
        ขณะเดียวกัน ในระหว่างการจำแนกบุคลากรลงตามแท่งทั้ง 4 แท่ง และเกิดมีข้าราชการคนใดคนหนึ่งรู้สึกว่าเกิดความไม่พอใจหรือเห็นว่าไม่เป็นธรรม ก็สามารถร้องต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. ได้ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวมาจากการสรรหาคณะบุคคลที่ไม่ได้ขึ้นกับฝ่ายบริหาร โดยในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ได้กำหนดองค์ประกอบของผู้สรรหา ได้แก่ ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานในการสรรหา รองประธานศาลฎีกา กรรมการ ก.พ. ผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการ ก.พ. ร่วมกันสรรหาคณะกรรมการ ก.พ.ค. เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ดูแลเรื่องการให้ความเป็นธรรม มีลักษณะการทำหน้าที่เป็นองค์กรกึ่งตุลาการ
       
        นอกจากนี้ การจำแนกตำแหน่งออกเป็นแท่ง นั้นยังไม่เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานและตัวข้าราชการเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการสกัดระบบ "เส้นสาย" ที่มาจากฝ่ายการเมืองได้เป็นอย่างดี เนื่องจากโครงสร้างตำแหน่งใหม่ที่กำหนดตำแหน่งออกเป็นแท่งทั้ง 4 ด้านนั้นจะกำหนดคุณสมบัติและขอบข่ายหน้าที่การทำงานแต่ละแท่งไว้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งจะมีการประเมินผลการทำงานปีละ 2 ครั้งโดยประเมินผลงานทุก 6 เดือน ดังนั้นหากข้าราชการคนใดไม่มีผลงาน ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ จะไม่ผ่านการประเมินในที่สุด
       
        “ระบบแท่งแบบนี้เราจะไม่กลัวเลยว่าใครจะฝากคนของตัวเองเข้ามาทำงาน เพราะถ้าฝากคนไม่เก่ง ไม่ดี ในที่สุดก็จะไม่มีผลงานเมื่อมีการประเมินผล ทุก 6 เดือน
       
       ในทางกลับกัน หากนักการเมืองหรือใครก็ตาม ฝากคนเก่ง สามารถสร้างผลงานให้องค์กรได้จริงก็คงไม่มีปัญหาแน่นอน เราก็จะได้คนเก่งมาพัฒนางานแต่ละกระทรวงได้มากขึ้น แต่อันดับแรกก่อนที่ส่งใครมาต้องไม่ลืมว่าคนคนนั้น มีคุณสมบัติครบตามที่โครงสร้างตำแหน่งกำหนดไว้หรือไม่”
       
        นพ.สุพรรณ ยอมรับว่าปัญหาการแทรกแซงการทำงานในระบบข้าราชการที่ผ่านมานั้น เนื่องจากไม่มีการประเมินผลงานที่ชัดเจน โปร่งใสและตรวจสอบได้ แต่ด้วยโครงสร้างตำแหน่งใหม่ตามกฎหมายใหม่จะทำให้เกิดการส่งเสริมบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีความสามารถได้อย่างแท้จริงและเป็นธรรมมากขึ้น
       
       ตั้งรับ “หมอ” ก่อหวอด-ค้านกติกาใหม่
       
        ทั้งนี้ภายในระยะเวลา 1 ปีระหว่างการเปลี่ยนถ่ายจากระบบเก่าไปสู่ระบบใหม่นั้น ทุกฝ่ายต้องยึดตามหลักการของกฎหมายฉบับใหม่เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับข้าราชการทุกประเภทภายในกระทรวงให้มากที่สุด เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่าในระยะแรกของการปรับเปลี่ยนสิ่งที่จะสามารถสร้างผลกระทบต่อชีวิตการทำงานทั้งหมดของข้าราชการนั้น ย่อมเกิดความไม่เข้าใจและไม่พอใจจากหลายฝ่ายขึ้นอย่างแน่นอน
       
        “สิ่งที่เรากลัวและเชื่อว่าต้องเกิดขึ้นแน่นอน คือเมื่อเราพยายามให้ข้อมูลและทำความเข้าใจกับข้าราชการทั้งหมดของเราแล้วก็ตาม แต่บางส่วนย่อมเกิดความไม่พอใจขึ้น ในสิ่งที่เราจะไปปรับเปลี่ยนเขา รวมทั้งบางคนอาจไม่พอใจกับกติกาใหม่”
       
       โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนข้าราชการให้ขึ้นไปอยู่ในระดับ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ต้องระบุบทบาท และหน้าที่ให้ชัดเจน รวมทั้งต้องชี้แจงว่างานด้านใดเป็นงานใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิภายของกระทรวงนั้น ไม่มีการชี้ชัดบทบาทหน้าที่ออกมาชัดเจน ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่จะต้องเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ ย่อมเกิดคำถามและแรงกระเพื่อมตามมาอย่างแน่นอน...

Copyright © 2024 Praboromarajchanok Institute. All rights reserved.