โครงการ “การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการแน่นหน้าอก (Chest pain)”
หน่วยงานที่รับผิดชอบ สถาบันพระบรมราชชนก ร่วมกับโรงพยาบาลระยอง
หลักการและเหตุผล
ระบบบริการด้านสุขภาพ เป็นภารกิจที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ถึงปัจจุบัน โดยมีกรอบการดำเนินการที่สำคัญ คือ การพัฒนาศักยภาพของสถานบริการให้เป็นไปตามขีดความสามารถที่ควรเป็น ซึ่งการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ( Service plan)ได้กำหนดการพัฒนาศักยภาพของสถานบริการทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน และระบบบริการ ในส่วนของระบบบริการจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีทักษะ สามารถให้บริการได้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบบริการแต่ละสาขา
การพัฒนาความเชี่ยวชาญสาขาหัวใจ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease : CAD) เป็นปัญหาสำคัญของระบบสุขภาพระดับโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ในปี ๒๐๓๐ ว่าประชากรโลกจะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองเป็นอันดับสองรองจากมะเร็ง จากรายงานในต่างประเทศมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโรคหลอดเลือดหัวใจเพียงร้อยละ ๔.๙ ขณะที่ประเทศไทย จากรายงานของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในปี ๒๕๕๔ มีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ ๑๒.๖ อาจกล่าวได้ว่ามีผู้ป่วยไทยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ๒.๓ คน ทุก ๓๐ นาที หรือวันละ ๕๔ คน หากไม่มีการจัดการผู้ป่วยที่เกิดกลุ่มอาการหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome: ACS) อย่างเหมาะสมรวดเร็ว ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของการจัดการให้ผู้ป่วยได้รับการรักษารวดเร็วเกิดประสิทธิผลของการรักษาสูงสุด
ในปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา สถาบันพระบรมราชชนกได้ดำเนินงานโครงการศึกษาและอบรมหลักสูตรระยะสั้นต่างประเทศในสาขาหัวใจ เพื่อพัฒนาศักยภาพครูพี่เลี้ยง และอาจารย์ ให้มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาหลักสูตรรองรับระบบบริการสุขภาพในสาขาความเชี่ยวชาญนี้ ต่อเนื่องในปี ๒๕๖๑ ผู้ผ่านการศึกษาอบรมดังกล่าวได้พัฒนาหลักสูตรการคัดกรองและดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เพื่อนำหลักสูตรสู่การพัฒนาบุคลากรสุขภาพ โดยเฉพาะพยาบาล
ดังกล่าวเบื้องต้น สถาบันพระบรมราชชนก และวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรด้านความเชี่ยวชาญสาขาหัวใจ จึงได้ดำเนินการโครงการ “การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการแน่นหน้าอก (Chest pain)” เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการพยาบาลให้มีความสามารถ และทักษะในการคัดกรองและดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก พร้อมทั้งให้การดูแล เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในที่สุด
วัตถุประสงค์ เพื่อ
๑. ทดลองใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วย chest pain ที่พัฒนาไว้
๒. พัฒนาการคัดกรอง และดูแลผู้ป่วยที่มีอาการแน่นหน้าอก
๓. พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรค ACS ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
วิธีดำเนินการ
๑. อบรมภาคทฤษฎี ๕ วัน
๒. อบรมภาคปฏิบัติ ๕ วัน
๓. ประเมินผลการพัฒนา
๔. ประชุมสรุปผลการดำเนินงาน
ระยะเวลา
พฤษภาคม – กันยายน ๒๕๖๑
ผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน ๓๐ คน ประกอบด้วย
๑. พยาบาล สถานบริการระดับ A, S, M และ F2
๒. ครูพี่เลี้ยงแหล่งฝึกของสถานบริการ ทีมสหวิชาชีพ
๓. อาจารย์วิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกทุกแห่ง
๔. บุคลากรสถาบันพระบรมราชชนกส่วนกลาง
สถานที่
๑. โรงพยาบาลระยอง
๒. โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี และ
๓. โรงพยาบาลชลบุรี
กิจกรรมหลัก ดังนี้
๑. ขออนุมัติโครงการ
๒. ประชุมเตรียมความพร้อมในการอบรมและพิจารณาคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรม
๓. ดำเนินการขอ CNEU ให้ผู้สำเร็จการอบรม
๔. จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ภาคทฤษฎี/ภาคปฏิบัติ
๖. ประเมินผล
๗. สรุปผลโครงการ
งบประมาณ
จากสถาบันพระบรมราชชนก ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ แผนงาน : พื้นฐานด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ผลผลิต : ผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข กิจกรรม : พัฒนาและเพิ่มศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข งบดำเนินงาน จำนวน ๔๒๒,๘๐๐ บาท (สี่แสนสองหมื่นสองพันแปดร้อยบาทถ้วน)
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๑. หลักสูตรระยะสั้นสาขาหัวใจ รองรับระบบบริการสุขภาพ(Service plan)
๒. เครือข่ายการพัฒนาหลักสูตร และศักยภาพบุคลากรสาขาหัวใจ
๓. รูปแบบใหม่สำหรับการพัฒนาบุคลากรสาขาหัวใจ
๔. คู่มือการเรียนการสอนสาขาหัวใจ
สงวนลิขสิทธิ์ © สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข